สายสีทอง
โครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง สายสีทอง
โครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง สายสีทอง เริ่มต้นมาจากแนวคิดในการพัฒนารถไฟฟ้าขนาดรองของสำนักการจราจรและขนส่งกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๕๒ เพื่อแก้ไขปัญหาการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าหลักซึ่งอาศัยงบประมาณสูงและระยะเวลาในการพัฒนาโครงการที่ยาวนาน โดยมุ่งเน้นไปยังแหล่งพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชนในการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ต่อมาในปี ๒๕๕๘ ทางสำนักการจราจรและขนส่ง ได้เริ่มทำการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและด้านเศรษฐกิจการลงทุนโครงการ เนื่องจากเล็งเห็นว่าพื้นที่ย่านคลองสานมีการเจริญเติบโตของพื้นที่อย่างรวดเร็ว รวมทั้งเป็นแหล่งศูนย์กลางด้านการค้า ศาสนาและการปกครองของฝั่งธนบุรี โดยเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๕๙ คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินโครงการและทางกรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจของกรุงเทพมหานครเป็นผู้รับหน้าที่ในการบริหารและพัฒนาโครงการเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๐ โดยมีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา
แนวเส้นทางโครงการ
ในการพัฒนาโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทอง แบ่งออกเป็น ๒ ระยะ
- ระยะที่ ๑ ประกอบด้วย ๓ สถานี ระยะทาง ๑.๗๔ กิโลเมตร แนวเส้นทางจากสถานีรถไฟฟ้า BTS กรุงธนบุรี ไปทางทิศตะวันออกตามแนวเส้นทางคู่ขนานของถนนกรุงธนบุรี เลี้ยวซ้ายขึ้นทางทิศเหนือไปตามแนวถนนเจริญนครผ่านแยกคลองสาน ไปสิ้นสุดที่ถนนสมเด็จเจ้าพระยาที่บริเวณหน้าโรงพยาบาลตากสิน
- ระยะที่ ๒ ประกอบด้วย ๑ สถานี ความยาวทางวิ่งเพิ่มขึ้นประมาณ ๐.๘๘ กิโลเมตร
ระบบรถไฟฟ้า
ระบบรถไฟฟ้าที่ใช้เป็นรถไฟฟ้ารางเบารูปแบบไร้คนขับโดยใช้รางนำทาง มีผิวสัมผัสระหว่างล้อและทางวิ่งเป็นยาง ซึ่งจะทำให้เกิดความนุ่มนวลและก่อให้เกิดเสียงรบกวนต่ำเมื่อเทียบกับระบบอื่น อีกทั้งมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยโมเดลที่ใช้เป็นรุ่น Bombardier Innovia APM ๓๐๐ จำนวน ๓ ขบวน ขบวนละ ๒ ตู้ รองรับผู้โดยสารได้ ๔,๐๐๐-๑๒,๐๐๐ คน/ชั่วโมง/ทิศทาง คาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการเดินรถในช่วงปลายปี ๒๕๖๓
การเชื่อมต่อ
โครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง สายสีทอง (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน-ประชาธิปก) เชื่อมต่อโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนสายหลักในพื้นที่โครงการ ๓ เส้นทาง ได้แก่
๑.รถไฟฟ้าสายสีเขียว (รถไฟฟ้า BTS สายสีลม) ปัจจุบันเปิดให้บริการถึงสถานีบางหว้า
ในอนาคตกรุงเทพมหานครมีแผนที่จะต่อขยายแนวเส้นทางไปจนถึงตลิ่งชัน
๒.รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ
๓.รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงหัวลำโพง-บางบอน-มหาชัย
ประโยชน์ของโครงการ
๑.ลดผลกระทบด้านการจราจร
-ส่งเสริมระบบขนส่งมวลชนและลดปริมาณในการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคล โดยเป็นส่วนสำคัญในการป้อนผู้โดยสารเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าหลักที่สถานีกรุงธนบุรี
- ลดปัญหาการจราจรติดขัดอันเป็นผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม
- ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ทั้งในด้านการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
๒.ด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน
-ลดการเผาผลาญเชื้อเพลิง อันเป็นสาเหตุหลักของปัญหามลพิษทางอากาศและลดก๊าซเรือนกระจก
-ลดผลกระทบทางเสียงและความสั่นสะเทือน ลดมลพิษทางอากาศซึ่งส่งผลต่อสุขภาพผู้สัญจรและชุมชนในพื้นที่
๓.ด้านเศรษฐกิจและสังคม
- ลดการนำเข้าเชื้อเพลิง
- กระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่อยู่อาศัย การจ้างงาน และการท่องเที่ยวในพื้นที่
-การสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยให้ทัดเทียมประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาใช้ในการแก้ปัญหาการจราจรอย่างยั่งยืน
มาตรการป้องกันและลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
มาตรการป้องกันและลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินโครงการเพื่อป้องกันและแก้ไขผลกระทบด้านคมนาคมในพื้นที่
พร้อมมาตรการในการรองรับ ประกอบด้วย
ด้านฝุ่นละออง
จะมีการวางแผนอย่างรัดกุม ใช้เวลาก่อสร้างให้น้อยที่สุด และฉีดพรมน้ำในพื้นที่ก่อสร้างอย่างสม่ำเสมอ
ด้านเสียงและความสั่นสะเทือน
จะใช้อุปกรณ์หรือควบคุมเสียงจากเครื่องจักร ติดตั้งกำแพงกันเสียง
ด้านการคมนาคมขนส่ง
จะติดตั้งป้ายสัญลักษณ์บริเวณพื้นที่ก่อสร้างเพื่อให้ประชาชนรับทราบ พร้อมจัดการจราจรและควบคุมความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด
ด้านเศรษฐกิจและสังคม
จะก่อสร้างบนเส้นทางบนเส้นทางสาธารณะ จึงทำให้ไม่มีการเวนคืน นอกจากนี้จะจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ พร้อมทั้งจะจัดให้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและประชาสัมพันธ์ข้อมูลโครงการ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง เพื่อคลายข้อกังวลใจของประชาชน